สมศ.ขอสถาบัน ‘จัดเก็บข้อมูลให้ดี’ ช่วยประเมินคุณภาพ – ครูระยอง

Print Friendly

สมศ.เผยผลประเมินรอบสาม พบปัญหาคุณภาพสถาบันลดลง ขอโรงเรียนจัดเก็บข้อมูลให้ดี หลังพบยังมีปัญหานำฐานข้อมูลมาใช้ไม่ได้ จนรู้สึกว่า สมศ.สร้างภาระ รวมถึงไม่นำผลประเมินไปพัฒนาคุณภาพต่อ ขณะข้อร้องเรียน “ให้ยุบ สมศ.”ต้องกลับไปดูสาเหตุก่อน…

ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) หรือ สมศ. เปิดเผยว่า ผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบที่สามที่ผ่านมา ใน 20 จังหวัด พบว่า มีสถานศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีคุณภาพการศึกษาลดลง เปลี่ยนจากสถานภาพรับรองเป็นไม่รับรองมีจำนวนมากกว่า และมีสถานศึกษาที่มีคุณภาพดีขึ้นถึง 3 เท่า คือ เปลี่ยนจากสถานภาพไม่รับรองเป็นรับรอง เมื่อนำมาวิเคราะห์พบว่า สาเหตุของคุณภาพที่ลดลงมาจากผู้บริหาร โดยเฉพาะตำแหน่งผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งต้องทำงานแบบเอาจริงเอาจัง นอกจากนี้ ยังพบปัญหาการโยกย้ายบุคลากร ทั้งผู้บริหารหรือครูโอนย้าย ทำให้ความรู้ติดตัวไปด้วย ประกอบกับคนไทยไม่มีพฤติกรรมการทำงานเป็นวิถีชีวิตคุณภาพ คือ ไม่บันทึกการทำงานไว้ ดังนั้น เมื่อ สมศ. เข้าประเมิน 1 เดือนก่อนการประเมินจึงรู้สึกเครียด เพราะต้องทำข้อมูลเอกสารหรือผลงานที่ทำมาเพื่อรับการประเมิน จึงรู้สึกว่า สมศ.สร้างภาระ

ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังพบปัญหาสำคัญตอนนี้ คือ การไม่นำผลประเมินไปใช้ เพื่อพัฒนาคุณภาพ ซึ่งเป็นความผิดพลาดอย่างมากของสถาบัน ซึ่งการไม่จัดเก็บข้อมูลที่ดี ไม่มีระบบฐานข้อมูลที่ใช้ประโยชน์ได้ ทำให้เมื่อต้องมารื้อฟื้นสิ่งที่ทำมาทั้งหมดในเวลาสั้นๆ อาจทำให้ผลประเมินไม่สะท้อนคุณภาพที่แท้จริง ดังนั้น สถานศึกษาทุกแห่งควรทำระบบฐานข้อมูลและจัดเก็บเอกสารให้เป็นปัจจุบัน เมื่อ สมศ.เข้ารับการประเมินเมื่อไรก็นำผลงานมาแสดงได้
สำหรับกรณีสถาบันอุดมศึกษาต่อต้านการประเมินคุณภาพภายนอกนั้น ศ.ดร.ชาญณรงค์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องเปรียบเทียบกับต่างประเทศ ไม่มีประเทศใดที่ปฏิเสธการตรวจสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับอุดมศึกษา มีการกระจายอำนาจไปสู่สภามหาวิทยาลัย การตรวจสอบยิ่งต้องเข้มข้นขึ้นและต้องตรวจสอบให้บ่อยมากขึ้น การปฏิเสธการประเมิน โดยขอให้ยุบ สมศ.และไม่ต้องการรับผลการประเมินคุณภาพภายนอกและนำไปใช้นั้น ต้องวิเคราะห์ว่า สาเหตุเป็นเพราะอะไร และสิ่งที่ สมศ.ประเมินที่ผ่านมาจะเป็นภาระหรือเพิ่มงานให้สถานศึกษามากขึ้นอย่างไร ซึ่งต้องบอกให้ได้ตัวบ่งชี้ไม่สะท้อนคุณภาพอย่างไร เช่น ดูเรื่องของศิษย์เก่า หรือตำแหน่งทางวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

“ที่ผ่านมา สมศ.เชิญมหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมสร้างตัวชี้วัด สร้างมาตรฐานร่วมกันให้สอดคล้อง เพราะการประเมินในระดับมหาวิทยาลัยขณะนี้มันมีความหลากหลายมาก เพราะแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน แต่เนื่องจาก สมศ.ใช้เกณฑ์เดียวประเมินทุกสถาบัน เนื่องจากเป็นเกณฑ์มาตรฐานขั้นต่ำ สถาบันอุดมศึกษาอาจจะรู้สึกได้เปรียบเสียเปรียบกัน เกณฑ์การประเมินคุณภาพของ สมศ.ก็เหมือนกับเกณฑ์ของ อย.ที่มีมาตรฐานเดียว แต่ทางสถาบันอุดมศึกษาต้องการให้ สมศ.จัดเกณฑ์ให้หลายมาตรฐานสอดคล้องธรรมชาติหรือบริบทแต่ละมหาวิทยาลัย ซึ่ง สมศ.ได้ให้มหาวิทยาลัยจัดกลุ่มมหาวิทยาลัย มาระยะหนึ่งแล้วจนบัดนี้ยังไม่มีความคืบหน้าแต่ประการใด” ผอ.สมศ. กล่าว

ที่มา : ไทยรัฐ

krurayong

ผู้เขียน: krurayong

สุธาราทิพย์ แสงสุวรรณ เป็นที่ปรึกษาและติดยาเสพติดอายุ 31 ปีที่โรงพยาบาลศรีวิชัย เธอสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2553 เธอทำงานกับทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่เพื่อจัดการกับปัญหาการเสพติดและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ในเวลาว่างของเธอเธอมีส่วนร่วมในชมรมละครของชุมชนท้องถิ่น