10 ข่าวการศึกษากระแทกใจรอบปี 57

การศึกษาไทย

Print Friendly
  • การศึกษาไทยรั้งท้าย
    ปี 2557 ตอกย้ำคุณภาพอันตกต่ำของการศึกษาไทย ด้วยรายงานผลโกลบอล คอมเพทติทีฟ รีพอร์ท 2014-2015 ของ เวิร์ดอีโคโนมิค ฟอรั่ม ที่ระบุว่า ในระดับโลกคุณภาพระบบการศึกษาไทยอยู่อันดับที่ 87 ถดถอยลง 9 อันดับ และคุณภาพประถมศึกษาถดถอยลง 4 อันดับ จากปี 2556 เมื่อแยกเฉพาะกลุ่มอาเซียนที่เข้าร่วมการประเมิน 9 ประเทศ ทั้งคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐาน และคุณภาพระบบอุดมศึกษาไทย อยู่ในอันดับ 6 ตามหลังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ที่อยู่อันดับ 5 มาจับตากันว่าในปี 2558 นี้ คุณภาพการศึกษาไทยจะสละตำแหน่งรั้งท้ายได้หรือไม่
  • ปลดออก “ศศิธารา”
    มหากาพย์ครุภัณฑ์อาชีวะ คดีฉาวกรณีความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์อาชีวศึกษา ตามโครงการภายใต้แผนฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะที่ 2 : ไทยเข้มแข็ง 2555 หรือ เอสพี 2 ของสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา ที่ใช้เวลาในการสืบหาข้อเท็จจริงและสอบสวนผู้เกี่ยวข้องกันแบบข้ามปี จนที่สุดก็มีคําสั่งลงโทษปลด ดร.ศศิธารา พิชัยชาญณรงค์ เลขาธิการสภาการศึกษา ในกรณีกระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงในการจัดซื้อจัดจ้างครุภัณฑ์อาชีวะ ในสมัยที่ดำรงตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (กอศ.) ออกจากราชการ คดีนี้ถือเป็นอีกคดีประวัติศาสตร์ของวงการศึกษาไทย ที่มีการลงโทษทางวินัยอย่างร้ายแรงกับผู้บริหารระดับสูง หรือ ระดับ 11 ของกระทรวงศึกษาธิการ ถึงขั้นปลดออกจากราชการ
  • รณรงค์เรียนอาชีวะพลาดเป้า
    ขณะนี้ประเทศไทย ต้องการกำลังคนช่างฝีมือระดับประกาศนียบัตร วิชาชีพ และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง เป็นจำนวนมาก การส่งเสริมให้เด็กเรียนสายอาชีพมากขึ้นจึงเป็นนโยบายสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา(สอศ.) ที่มีหน้าที่ผลิตเด็กช่างโดยตรง จึงโหมรณรงค์ทุกรูปแบบและตั้งเป้าหมาย ว่า ปีการศึกษา 2557 จะเพิ่มสัดส่วนผู้เรียนสายอาชีวะต่อสายสามัญ เป็น 45 ต่อ 55 จากปี 2556 ที่มีสัดส่วน 36 ต่อ 64 แต่ก็ไม่สามารถขยับตัวเลขเด็กอาชีวะให้เพิ่มขึ้น ทำได้เพียงตรึงตัวเลขไม่ให้ลดลง และในปีการศึกษา 2558 สอศ.ก็ได้ตั้งเป้าหมายใหม่ไว้ที่ 41 ต่อ 59 โดยจับทุกวิทยาลัยเซ็นสัญญาว่าจะเพิ่มเด็กให้ได้ 5%
  • วงโยธวาทิตฉาว
    นี่ก็ดังแบบฉาว ๆ วงโยธวาทิต “Max Percussion Theater” โรงเรียนสตรีวิทยา 2 หลังครูและนักเรียนบุกขอยืมเงิน 3.1 ล้านบาท จากนายตัน ภาสกรนที เจ้าของน้ำชาเขียวยี่ห้อหนึ่ง เพื่อเหินฟ้าไปแข่งขันที่เมืองกังหันเนเธอร์แลนด์ ตามติดด้วยคลิปเสียงหลุดมาจากวงสนทนาว่า นายพชรพงศ์ ตรีเทพา ผอ.รร.สตรีวิทยา 2 เป็นผู้วางแผนให้ไปขอยืมเงิน จนเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โต กระทั่งมีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริง และสุดท้ายนายพชรพงศ์ ก็ถูกสั่งไปช่วยราชการที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา กทม.เขต 2 จนถึงปัจจุบัน
  • ปลูกฝัง 12 ค่านิยมที่ดี
    ตีปี๊บดังกระหึ่ม!! แทบทุกหน่วยงานรณรงค์ปลูกฝังค่านิยมหลักคนไทย 12 ประการ บทกลอนอาขยานค่านิยมหลักคนไทย ฉบับ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถูกนำไปให้เด็กท่องขึ้นใจ ตามนโยบายสำคัญของนายกฯ ที่ว่า “เราจะสร้างสรรค์ประเทศไทยให้เข้มแข็ง ฉะนั้นคนต้องเข้มแข็งก่อน” ทำให้เวลานี้ไปไหนมาไหนก็จะเห็นการรณรงค์ในรูปแบบต่าง ๆ เต็มไปหมด คงต้องรอดูกันว่ากระแสนี้จะกระฉ่อนข้ามปี หรือเลือนหายไปตามกาลเวลา
  • ชะลอประเมินอุดมศึกษา
    ถือเป็นการรวมพลังครั้งสำคัญของชาวอุดมศึกษา เมื่อ 4 เครือข่ายอุดมฯ ยื่นหนังสือด่วนที่สุด ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชะลอประกาศตัวบ่งชี้ และเกณฑ์การประเมินคุณภาพภายภายนอกรอบสี่ ระดับอุดมศึกษา ของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(สมศ.) ซึ่ง คสช.ก็ไม่รีรอสั่งให้ สมศ.ชะลอทันที และดูท่าเรื่องนี้จะวุ่นไม่จบ เพราะล่าสุดที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ก็มีมติขอกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินมหาวิทยาลัยเอง
  • เกือบไม่ได้กู้ยืมเรียนกันแล้ว
    เต้นกันเป็นแถวทั้งเด็ก ผู้ปกครอง และสถาบันการศึกษา เมื่อกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา(กยศ.)ถูกตัดงบประมาณ ปี 2557 ไปถึง 6,700 ล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ไม่มีเงินให้ผู้กู้รายใหม่ และผู้กู้รายเก่าจะไม่ได้กู้เรียนต่อ 141,671 ราย สุดท้ายรัฐบาลทนเสียงเรียกร้องไม่ไหวจัดสรรเงินเติมให้ กยศ.อีก 8,700 ล้านบาท ทำให้มีเงินมาหมุนให้กู้ต่อได้ แต่ทว่าปัญหาจริง ๆ ที่ทำให้ กยศ.ไม่มีเงินทุนมาหมุนเวียน เพราะผู้กู้ขาดสำนึกการชำระหนี้ จึงมีการคลอดกฎเหล็กออกมาว่าตั้งแต่ ปี 2561 กยศ.จะนำรายชื่อผู้ค้างชำระตั้งแต่ปี 2539 ถึงปัจจุบันเข้าสู่ระบบข้อมูลเครดิตบูโร หรือถูกขึ้นบัญชีดำว่าเป็นผู้มีปัญหาด้านการเงิน
  • ล้มแจกแท็บเล็ต
    หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารประเทศ ได้สั่งพับโครงการ 1 คอมพิวเตอร์พกพา(แท็บเล็ต)ต่อ 1 นักเรียน ที่รัฐบาลซื้อแท็บเล็ตแจกนักเรียน ชั้น ป.1 และ ม.1 ทั่วประเทศเป็นรายคนลง เพราะมองว่าการแจกแท็บเล็ตไม่ตอบโจทย์ระบบการศึกษาและสิ้นเปลืองงบฯ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เจ้าภาพหลัก ได้ชูโครงการสร้างห้องเรียนอัจฉริยะ หรือสมาร์ทคลาสรูมขึ้นมาแทน แต่จนแล้วจนรอดโครงการที่จะนำมาทดแทนก็ยังไม่คลอดให้เห็นเป็นรูปธรรม
  • นักศึกษาต่อต้านสอบยูเน็ต
    ไม่เอายูเน็ต ไม่สอบยูเน็ต กระแสคัดค้านจากนิสิต นักศึกษา นักวิชาการและผู้เกี่ยวข้องกับการอุดมศึกษาดังกระหึ่ม ทันทีที่สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ประกาศจะสอบแบบทดสอบทางการศึกษาระดับชาติระดับอุดมศึกษา หรือยูเน็ต กับเด็กระดับปริญญาตรีชั้นปีสุดท้ายของทุกมหาวิทยาลัย ในทุกสาขาวิชา เพื่อทดสอบศักยภาพว่าที่บัณฑิต และล่าสุด สทศ.ยอมถอยลดวิชาที่จะสอบลง ไม่บังคับสอบ และไม่เปิดเผยข้อมูลผลการทดสอบ แต่ก็ยังไม่มีกำหนดเวลาการสอบออกมา
  • สจล.เงินหาย1.6พันล้าน
    เป็นข่าวฉาวโฉ่ส่งท้ายปี เมื่อผู้บริหารชุดปัจจุบัน นำโดย ศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการแทนอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ตรวจพบว่าเงินฝากของสถาบันฯซึ่งเป็นเงินคงคลังสะสมที่มีอยู่กว่า 3,000 ล้านบาท ถูกถอนออกไปอย่างผิดปกติตั้งแต่ปลายปี 2555 ถึง 1,663 ล้านบาท เรื่องนี้แม้จะจับกุมผู้ที่เกี่ยวข้องบางส่วนได้แล้ว แต่สังคมยังติดตามดูต่อไปว่าจะมีอดีตผู้บริหารระดับสูงเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ ถือเป็นเรื่องร้อนฉ่ารับการสรรหาอธิการบดีคนใหม่ต้นปีหน้าได้เลย.

ที่มา : เดลินิวส์

ข่าวอื่นๆ

แสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

krurayong

ผู้เขียน: krurayong

สุธาราทิพย์ แสงสุวรรณ เป็นที่ปรึกษาและติดยาเสพติดอายุ 31 ปีที่โรงพยาบาลศรีวิชัย เธอสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2553 เธอทำงานกับทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่เพื่อจัดการกับปัญหาการเสพติดและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ในเวลาว่างของเธอเธอมีส่วนร่วมในชมรมละครของชุมชนท้องถิ่น