ชง13 ร่าง กม.ปฏิรูปการศึกษา หวังขับเคลื่อนทั้งระบบ

Print Friendly

นายศรีราชา วงศารยางกูร ผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้เชิญคลังสมองด้านการศึกษา มาร่วมกันหาแนวทางและข้อเสนอแนะประเด็นต่างๆ เกี่ยวกับการปฏิรูปการศึกษา โดยครอบคลุมทั้งเรื่องของการปรับปรุงกฎหมาย โครงสร้างหน่วยงานทางการศึกษา หลักสูตรการสอน การบริหารบุคคล การถ่ายโอนอำนาจให้สถานศึกษา และจากการรวบรวมข้อมูลและข้อเท็จจริงอย่างต่อเนื่อง ทำให้พบว่าเกิดปัญหาทั้งระบบ อาทิ ปัญหาด้านงบประมาณที่ได้รับสูงแต่สวนทางกับประสิทธิภาพการใช้เงิน ด้านบุคลากรมีปริมาณมากกว่างานและมีกระบวนการทำงานที่ล่าช้า ด้านคุณภาพครูที่เร่งผลิตผลงานวิชาการแต่คุณภาพนักเรียนลดลง สถานศึกษาหลายแห่งยังขาดแคลนบุคลากรครู และมีสื่อการสอนที่ไม่ทันสมัย ครูและผู้บริหารละทิ้งโรงเรียน การบริหารงานบุคคลไม่ยุติธรรมโปร่งใส

ขณะที่การศึกษานอกระบบ ยังไม่ทำให้ผู้จบการศึกษามีคุณภาพในด้านการแสวงหาความรู้ และทักษะต่างๆ ที่ตอบสนองตลาดแรงงาน ส่วนระดับอาชีวศึกษายังขาดแคลนผู้เรียนในหลายสาขา ขาดการฝึกงานจริงในสถานประกอบการที่มีเครื่องมือทันสมัย และมีแนวโน้มอยากปรับเป็นอุดมศึกษา สำหรับระดับอุดมศึกษามีการเปิดหลักสูตรจำนวนมากที่ไม่สนองต่อทิศทางการพัฒนาประเทศและวัฒนธรรมไทย เป็นต้น

นายศรีราชา กล่าวต่อไปว่า จากปัญหาที่เกิดขึ้นในทุกระดับ ทุกประเภทการศึกษา ตลอดจนหน่วยงานตั้งแต่ส่วนกลางถึงสถานศึกษา ผู้ตรวจการแผ่นดิน จึงจัดตั้งคณะทำงานการปฏิรูปการศึกษาชาติทั้งระบบ เพื่อเสนอแนวคิดการปฏิรูปการศึกษาชาติทั้งระบบ ด้วยการเสนอร่างกฎหมายที่ปรับทั้งโครงสร้างการบริหารจัดการ การกระจายอำนาจ การจัดการเรื่องการสอน และตัวบุคคลที่ปฏิบัติหน้าที่ ทั้งสิ้นจำนวน 12 ฉบับ ดังนี้

(1) ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)ว่าด้วยสภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.(…) โดยให้มีสภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ (Super Board) ที่ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ ที่จำเป็นการกำหนดนโยบายและการจัดการศึกษากรรมการ ผู้แทนขององค์กรภาคเอกชนผู้เกี่ยวข้องการการค้าและการลงทุน และกรรมการผู้แทนภาคประชาสังคมและภาคเอกชน ซึ่งปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง โดยมีอำนาจในการกำหนดนโยบายการศึกษาของชาติทั้งระบบ ทุกระดับและทุกประเภทการ ให้ความเห็นชอบ และตรวจสอบการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในส่วนที่เกี่ยวกับการศึกษาให้สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาแห่งชาติ พิจารณาให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ พนักงาน และเจ้าหน้าที่ระดับสูงใน ศธ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาของชาติ ติดตามตรวจสอบการดำเนินการให้เป็นไปตามนโยบายการศึกษาของชาติการกำกับ ดูแลการปฏิบัติงานของสำนักงานสภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ รวมทั้งการจัดตั้งสำนักงานสภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติให้มีฐานะเป็นหน่วยงานทางปกครองที่เป็นอิสระ

(2) ร่าง พ.ร.บ.การวิจัยและพัฒนาระบบการศึกษา พ.ศ.(…) เป็นร่างกฎหมายจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบการศึกษาแห่งชาติให้เป็นองค์การมหาชน โดยให้มีอำนาจในการศึกษา วิจัย และพัฒนาระบบการศึกษาและนโยบายการศึกษาของชาติในทุกระดับ ให้ทุนอุดหนุนศึกษาและวิจัยแก่บุคคลหรือคณะบุคคลในอำนาจหน้าที่ของสถาบันวิจัยและพัฒนาระบบการศึกษาแห่งชาติ

(3) ร่าง พ.ร.บ.การวิจัยและพัฒนาหลักสูตรการศึกษา พ.ศ.(…) เป็นร่างกฎหมายจัดตั้งสถาบันวิจัยและพัฒนาหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติ ให้เป็นองค์การมหาชน โดยให้มีอำนาจศึกษา วิจัย พัฒนา และจัดทำหลักสูตรและแนวทางการจัดการเรียนการสอนของการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท เสนอการจัดทำหลักสูตรมาตรฐานในทุกประเภทและทุกระดับต่อสภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 (4) ร่าง พ.ร.บ.สถาบันครุศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.(…) เป็นร่างกฎหมายจัดตั้งสถาบันครุศึกษาแห่งชาติให้เป็นองค์การมหาชน โดยให้มีอำนาจกำหนดทิศทางในการผลิตครู บุคลากรทางการศึกษา และผู้บริหารการศึกษาของโรงเรียนและสถานศึกษาในระดับปฐมวัย ประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอาชีวศึกษา และจัดให้มีการอบรมการจัดการเรียนการสอนให้คณาจารย์และผู้บริหารของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อเพิ่มเติมองค์ความรู้ด้านครุศึกษา เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการเรียนการสอนอย่างเต็มศักยภาพ

 (5) ร่าง พ.ร.บ.การรับรองมาตรฐานการศึกษา พ.ศ.(…) เป็นร่างกฎหมายจัดตั้งสำนักงานรับรองมาตรฐานการศึกษาแห่งชาติให้เป็นองค์การมหาชน โดยให้มีอำนาจในการทดสอบทางการศึกษา การประเมินคุณภาพการศึกษาในทุกระดับจัดให้มีการรับรองและไม่รับรองคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา และการพิจารณาเสนอการพักใช้หรือปิดโรงเรียน สถานศึกษา และสถาบันอุดมศึกษาที่ไม่ได้รับการรับรองมาตรฐาน

     (6) ร่าง พ.ร.บ.การรับรองคุณวุฒิการศึกษา พ.ศ.(…) เป็นร่างกฎหมายจัดตั้งสำนักงานรับรองคุณวุฒิการศึกษาแห่งชาติให้เป็นองค์การมหาชน โดยให้มีอำนาจในการทดสอบและรับรองคุณวุฒิวิชาชีพครูและผู้บริหารการศึกษา การพักใช้และเพิกถอนการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพครู เป็นศูนย์ข้อมูลคุณวุฒิการศึกษาของผู้สำเร็จการศึกษาในทุกระดับและทุกประเภท ตรวจสอบและรับรองการสำเร็จการศึกษาและคุณวุฒิการศึกษาของผู้สำเร็จการศึกษาในทุกระดับและทุกประเภท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

     (7) ร่าง พ.ร.บ.การอาชีวศึกษา พ.ศ.(…) เป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดการศึกษาในระดับอาชีวศึกษาตามนโยบายการศึกษาแห่งชาติ การมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาระหว่างสถาบันการศึกษาของรัฐกับภาคเอกชนผู้ใช้แรงงานในภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อผลิตผู้สำเร็จการศึกษาระดับอาชีวศึกษาที่มีความรู้ความสามารถ และทักษะตอบสนองต่อการประกอบการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรมอย่างแท้จริง

(8) ร่าง พ.ร.บ.กรจัดการและบริหารการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.(…) เป็นร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ กำหนดระยะเวลาในการถ่ายโอนอำนาจการจัดการศึกษาไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การกำหนดระดับและประเภทของการจัดการศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น การบริหารโรงเรียนและสถานศึกษาโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่สอดคล้องกับนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และการอุดหนุนงบประมาณและทรัพยากรเพื่อการศึกษาให้แก่โรงเรียนและสถานศึกษาขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

   (9) ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา พ.ศ.(…) เป็นร่างกฎหมายจัดตั้งสำนักงานนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาให้เป็นองค์การมหาชน โดยให้มีอำนาจการศึกษา วิจัย และผลิตนวัตกรรมทางการศึกษา เพื่อใช้ในการเรียนการสอนที่คุณภาพและมาตรฐาน กำหนดการใช้เทคโนโลยีทางการศึกษาที่เหมาะสมกับระบบการศึกษาของชาติในทุกระดับและทุกประเภท

นอกจากนี้กำหนดการจัดสรรทรัพยากรเพื่อการจัดการศึกษาโดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีสื่อการสอนทุกระดับที่ทันสมัยและเหมาะสมกับการจัดการศึกษาจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แก่การจัดการศึกษาในทุกระดับ รวมทั้งการประสานความร่วมมือในการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษากับผู้ประกอบการเอกชน

     (10) ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.(…) เป็นร่างกฎหมายที่จะให้อำนาจในการสร้างระบบงานการบริหารบุคคลเป็นของคณะกรรมการที่รับผิดชอบในการจัดการศึกษาในระดับต่างๆ การบรรจุ การแต่งตั้ง การโอน โยกย้าย การพัฒนา การเลื่อนระดับ การดำเนินการทางวินัย และการลงโทษ ที่เป็นไปตามระบบคุณธรรมทางวิชาชีพ

 (11) ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ.(…) เป็นร่างกฎหมายที่ปรับปรุงจัดระเบียบการบริหารราชการในกระทรวงศึกษาธิการ ที่ประกอบด้วยสำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นปฐมวัยและประถมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการมัธยมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และการกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานภายใน ซึ่งต้องสอดคล้องกับนโยบายการศึกษาแห่งชาติ และหลักการการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษาอย่างสมบูรณ์ไปยังองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน และสถานศึกษา

     (12) ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการพิทักษ์ระบบคุณธรรมการศึกษา พ.ศ.(…) เป็นร่างกฎหมายจัดตั้งคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมการศึกษา ที่ประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิด้านการศึกษาในระดับต่างๆ และด้านอื่นที่จำเป็น มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์หรืออุทธรณ์คำสั่งของผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานของรัฐที่จัดการศึกษาในทุกระดับและทุกประเภท การพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งเกี่ยวกับการพักใช้และการเพิกถอนใบอนุญาตของสถานศึกษา และการไม่รับรองคุณวุฒิการศึกษา

อย่างไรก็ตาม การเสนอร่างกฎหมายทั้ง 12 ฉบับ จะมีผลกระทบต่อ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 จึงเห็นสมควรปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติด้วย โดยเสนอร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.(…) ซึ่งเป็นกฎหมายใหม่ ขึ้นอีกหนึ่งฉบับ รวมเป็นการเสนอร่างกฎหมายทั้งหมด 13 ฉบับ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการพัฒนาการศึกษาอย่างมีคุณภาพและมาตรฐาน 

     “ขณะนี้ได้จัดทำร่างกฎหมายแล้วเสร็จ 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.(…) และร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสภานโยบายและพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.(…) ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการจัดตั้งซูเปอร์บอร์ดการศึกษา เพื่อดูแลการศึกษา ซึ่งเป็นมติที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 3 มี.ค.58 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งส่งร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ ไปยังประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช..) คณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กรรมาธิการการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ รองนายกรัฐมนตรี (นายยงยุทธ ยุทธวงศ์) รมว.ศึกษาธิการ คณะกรรมการอำนวยการปฏิรูปการศึกษา และอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ เพื่อพิจารณาผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาชาติทั้งระบบ ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเตรียมส่งร่างกฎหมายอีก 11 ฉบับโดยเร็ว”นายศรีราชา กล่าว

  สำหรับรายละเอียดร่างกฎหมายที่แล้วเสร็จทั้ง 2 ฉบับ สามารถติดตามได้ทาง www.ombudsman.go.th และ http://www.ombudsman.go.th

ที่มา : สยามรัฐ

krurayong

ผู้เขียน: krurayong

สุธาราทิพย์ แสงสุวรรณ เป็นที่ปรึกษาและติดยาเสพติดอายุ 31 ปีที่โรงพยาบาลศรีวิชัย เธอสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2553 เธอทำงานกับทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่เพื่อจัดการกับปัญหาการเสพติดและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ในเวลาว่างของเธอเธอมีส่วนร่วมในชมรมละครของชุมชนท้องถิ่น