สมศ.เผยผ่านประเมินดีมากทั้ง 3รอบมีแค่1%

Print Friendly

ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ผู้อำนวยการสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) เปิดเผยว่า จากการประเมินคุณภาพภายนอกสถานศึกษา 3 รอบที่ผ่านมาในรอบ 15 ปี ซึ่งมีสถานศึกษาระดับประถมศึกษา และมัธยมศึกษาทั่วประเทศเข้ารับประเมินฯ 32,099 แห่ง พบว่า มีสถานศึกษาที่ได้รับผลประเมินระดับดีมากทั้ง 3 รอบเพียง 354 แห่ง คิดเป็นร้อยละ 1.10 แบ่งเป็น สถานศึกษาขนาดเล็ก 127 จาก 22,985 แห่ง สถานศึกษาขนาดกลาง 79 แห่ง จาก 7,042 แห่ง และสถานศึกษาขนาดใหญ่-ใหญ่พิเศษ 148 แห่ง จาก 2,072 แห่ง แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามีโรงเรียนขนาดเล็กหลายแห่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล และมีครูผู้สอนเพียง 5-10 คน แต่สามารถได้รับผลการประเมินระดับดีมากติดต่อกันทั้ง 3 รอบ ดังนั้นคุณภาพของสถานศึกษาจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าโรงเรียนจะมีขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ แต่ขึ้นอยู่กับระบบการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนมากกว่า 

นายนิคม พรหมอนันต์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านเหล่ายาว จังหวัดลำพูน กล่าวว่า โรงเรียนบ้านเหล่ายาวเป็นโรงเรียนขนาดเล็กแห่งเดียวของจังหวัดลำพูนที่ได้รับผลการประเมินจาก สมศ. ระดับดีมากทั้ง 3 รอบ ซึ่งผลสำเร็จทั้งหมดเกิดจากการตื่นตัวของครูในโรงเรียนที่มีต่อการประกันคุณภาพภายใน โดยจะเตรียมความพร้อมอยู่ตลอดเวลา รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนการพัฒนาครู และบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ และมีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ  เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามเราต้องรู้จักทำงานให้เป็นประจำวัน ซึ่งจะทำให้การเตรียมตัวรับการประเมินจาก สมศ. ไม่ยุ่งยาก และไม่ต้องเร่งทำในช่วงเวลาที่โรงเรียนใกล้จะถูกประเมิน

“การประเมินเป็นตัวกระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติย้อนดูว่า สิ่งที่ทำนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ และต้องแก้ไขอย่างไร  ซึ่งแม้โรงเรียนบ้านเหล่ายาวจะเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีครูเพียง 11 คน แต่ครูทุกคนตื่นตัวต่อการประเมิน และนำข้อเสนอแนะของ สมศ. มาเป็นพื้นฐานในการกำหนดเป้าหมาย และกลยุทธ์ในการพัฒนาการเรียนการสอนของครูในโรงเรียน ตลอดจนอาศัยการมีส่วนร่วมของครู ผู้ปกครอง กรรมการ ผู้นำหมู่บ้าน และชาวบ้านในพื้นที่ จึงทำให้โรงเรียนใกล้ชิดกับชุมชน ครูมีความสุขในการสอน จึงสอนได้อย่างมีคุณภาพ” นายนิคม กล่าว.

ที่มา : เดลินิวส์

krurayong

ผู้เขียน: krurayong

สุธาราทิพย์ แสงสุวรรณ เป็นที่ปรึกษาและติดยาเสพติดอายุ 31 ปีที่โรงพยาบาลศรีวิชัย เธอสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2553 เธอทำงานกับทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่เพื่อจัดการกับปัญหาการเสพติดและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ในเวลาว่างของเธอเธอมีส่วนร่วมในชมรมละครของชุมชนท้องถิ่น