สำนึกรัก..บ้านเกิด โรงเรียนเก่า

Print Friendly

อีกไม่กี่วันประเพณีปีใหม่ 2558 ก็จะมาเยือน ภาพหนึ่งที่จะได้เห็นและกลายเป็นเอกลักษณ์ของคนไทยยุคนี้ไปแล้วก็คือการหลั่งไหลของผู้คนจากกรุงเทพสู่ต่างจังหวัดซึ่งภาพเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะแค่ปีใหม่แต่จะรวมถึงทุกประเพณีสำคัญหรือแม้แต่ช่วงที่มีวันหยุดยาว ที่เป็นเช่นนี้ก็ด้วยประชาชนต่างจังหวัดไปทำมาหากินในเมืองหลวงจำนวนมากนั่นเอง เมื่อถึงวันหยุดยาวจึงเป็นโอกาสได้กลับไปเยี่ยมญาติและก็มีจำนวนไม่น้อยที่จะได้ร่วมกันทำบุญสร้างคุณประโยชน์ให้กับบ้านเกิดด้วยการทอดกฐิน ผ้าป่า หาทุนทรัพย์ให้กับวัดหรือโรงเรียน แม้ว่าจะต้องดำเนินชีวิตอยู่ในท่ามกลางเศรษฐกิจที่รัดตัวแต่น้ำใจที่จะช่วยพัฒนาบ้านเกิดของคนกลุ่มนี้มีมาก จิตสำนึกนี้ผู้เขียนได้ประสบมากับตนเองจากการพูดคุยของคนงานที่บ่นเรื่องรายได้ไม่พอกับรายจ่ายทั้งค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเล่าเรียนของลูก และอีกสารพัดค่าเขาบอกว่าเหลืออย่างเดียวที่ยังมาไม่ถึงคือ“ (ค่า)ฆ่าตัวตาย”

แต่พอเปลี่ยนเรื่องคุยถึงปีใหม่ก็ชักชวนกันว่าจะกลับไปทอดผ้าป่าหาทุนให้กับโรงเรียนที่บ้านเกิด ฟังแล้วก็สะท้อนไปถึงผู้คนอีกกลุ่มหนึ่งที่มีจำนวนไม่น้อยที่มีความมั่นคงทั้งหน้าที่การงาน ฐานะความเป็นอยู่ แต่ไม่เคยนึกถึงบ้านเกิดส่วนนี้เลยพลอยให้นึกถึงเพลง”เด็กชายปึกแป้นปีก”ที่ครูสลา คุณวุฒิ ได้สะท้อนภาพเด็กชายปึกที่เรียนไม่เก่งแต่โตขึ้นแล้วเป็นคนดี เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น จึงขอนำเนื้อเพลงบางส่วน มาเล่าต่อ คือ “บักปึกหายไปหลายปีผ่านผัน แต่วันหนึ่งนั้น ครูทุกคนก็แปลกใจ ปึกกลับบ้านนา พร้อมผ้าป่ากองใหญ่ นำเงินมาให้ครูพัฒนาโรงเรียน ขณะที่คนเรียนดีหนีหาย เป็นเจ้าเป็นนาย ไม่เคยมาแวะเวียน แต่บักปึกแป้นปีกในวัยเรียนกลับมาแวะเวียน ด้วยน้ำใจที่งดงามสิ่งตอกย้ำถึงความเป็นคน ใช่อยู่ที่ผลของการเรียนดี คนเรียนเก่งคดโกงก็มากมี คนเรียนดี ขี้โกงก็มากมาย” เพลงนี้สะท้อนความเป็นจริงของสังคมไทยยุคปัจจุบันนี้ได้เป็นอย่างดี

เมื่อพูดถึงบ้านเกิด โรงเรียนเก่าของผู้เขียนที่อยู่จังหวัดกำแพงเพชร ก็มีโอกาสได้แวะเวียนไปเยี่ยมเยียนอยู่บ้าง เมื่อเห็นพัฒนาการแต่ละสถานศึกษาที่เคยเรียนมาแล้วก็ชื่นใจเพราะสมัยที่เรียนอยู่นั้นทั้งประถม มัธยมหรือวิทยาลัยครู ต้องอาศัยอาคารชั่วคราวเป็นที่เรียนทั้งสิ้นแต่ปัจจุบันได้กลายเป็นอาคารถาวรตึกใหญ่โตไปหมดแล้ว เพื่อให้เห็นภาพความเจริญก้าวหน้าที่ชัดเจนจึงขอยกตัวอย่างโรงเรียนที่ผู้เขียนเคยเป็นศิษย์เก่ารุ่นแรกๆในระดับมัธยมมาให้ทราบกัน คือ โรงเรียนพรานกระต่ายพิทยาคม

พอพูดถึงโรงเรียนนี้แล้วก็คงต้องนึกย้อนหลังถึงโอกาสทางการศึกษาเมื่อ40-50 ปีก่อนกับเด็กในชนบทห่างไกล ถือว่ามีน้อยมากยิ่งระดับมัธยมด้วยแล้วแทบเป็นไปไม่ได้เลยเพราะทั้งความยากจน การคมนาคมไม่สะดวกและโรงเรียนระดับดังกล่าวส่วนใหญ่จะอยู่ที่ตัวจังหวัด ซึ่งผู้เขียนเองอยู่ในกลุ่มดังกล่าวที่มีโอกาสน้อยมากการศึกษาแค่ ป.4 ก็ถือว่าสุดยอดแล้ว แต่เพราะโชคช่วยพอจบ ป.4 โรงเรียนก็ขยายเพิ่ม ป.5พอจบ ป.7 ในหมู่บ้าน ก็เกิดโรงเรียนพรานกระต่ายพิทยาคมขึ้นเมื่อปี 2515 แต่โอกาสที่จะได้เรียนก็ยังยากอยู่ดี ต้นเหตุก็คือความยากด้วยไม่มีอุปกรณ์การเรียนแจกฟรีหรือมีเงินให้กู้ยืมเรียนเช่นปัจจุบัน การรับจ้างหาทุนเพื่อเรียนหนังสือกับเด็กในยุคนั้นจึงเป็นเรื่องปกติรวมถึงความไม่สะดวกการคมนาคม แม้ระยะทางจากหมู่บ้านของผู้เขียนไปถึงโรงเรียนแค่ 16 กิโลเมตรแต่ด้วย 8 กิโลเมตรแรกเป็นทางเกวียนหน้าฝนจะมีโคลนตมให้ติดหล่ม 2 ข้างทางเต็มไปด้วยป่า เมื่อรวมกับถนนลาดยางอีก 8 กิโลเมตรไปกลับต้องปั่นจักรยานไม่น้อยกว่าวันละ30กิโลเมตร ซึ่งเพื่อนคนอื่นๆก็ใช่ว่าจะไม่ลำบากเช่นนี้เพียงแต่จะมากหรือน้อยกว่ากันเท่านั้นเอง

ด้วยเป็นโรงเรียนเปิดใหม่บนเนื้อที่ 54 ไร่ ที่เต็มไปด้วยพงป่า ต้องอาศัยอาคารชั่วคราวหลังคามุงแฝก ไม่มีฝากั้นเมื่อแดดส่องก็ร้อน ฝนตกก็เปียก โต๊ะ เก้าอี้ ก็มีจำกัด ต้องใช้ปีกไม้ทำเป็นที่นั่งและที่เขียนเพิ่มให้ อุปกรณ์ก็มีแต่ชอล์คกับกระดานดำ ครูก็มีไม่กี่คน ผู้ที่พอมีฐานะหน่อยจึงส่งลูกหลานไปเรียนที่ตัวจังหวัด แต่สำหรับเด็กยากจนแล้วไม่ว่าจะอยู่ในตัวอำเภอหรือหมู่บ้านรอบนอกโรงเรียนแห่งนี้ถือว่ามีคุณค่าต่อชีวิตมากเพราะเป็นเส้นทางที่จะทำให้เดินไปสู่อนาคตที่ดีขึ้นได้ เมื่อเด็กมีเป้าหมายกับการเรียนรู้ ความขยันมั่นเพียร การต่อสู้ชีวิตทุกอย่างที่จะให้ได้เรียนจึงมีอยู่มาก ครูอาจารย์แม้ต้องลำบากกับการเดินทาง เงินเดือนก็ไม่มากนักแต่ด้วยจิตวิญญาณของการเป็นผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่ทั้งด้านความรู้ ทักษะวิชาชีพและทักษะชีวิต จึงเป็นเหมือนเกราะป้องกันที่แข็งแกร่งให้กับลูกศิษย์ที่มีประสิทธิภาพยิ่ง การอยู่แบบครอบครัวเดียวกัน การสอนของครูที่เกิดจากส่วนลึกของจิตใจ ทำให้นักเรียนรุ่นแรกๆของโรงเรียนแห่งนี้ประสบความสำเร็จมีอาชีพมั่นคงตามสายงานที่แต่ละคนถนัดและมีจำนวนไม่น้อยที่ได้กลับมาเป็นครูโรงเรียนแห่งนี้ในเวลาต่อมา

โรงเรียนพรานกระต่ายพิทยาคม ได้พัฒนาก้าวหน้าตามกาลเวลาที่ล่วงเลยไปจากอาคารชั่วคราวก็กลายเป็นตึกหลายหลังมีความพร้อมด้านสื่อ อุปกรณ์กับการพัฒนาผู้เรียน ครู นักเรียนก็มีจำนวนเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว กลายเป็นสถานศึกษาที่มีคุณภาพ ได้รับความเชื่อมั่นจากหน่วยเหนือให้เป็นโรงเรียนทดลองนำร่องโครงการและนโยบายต่างๆมากมายไม่ว่าจะเป็น โรงเรียนต้นแบบโรงเรียนในฝันรุ่นแรก โรงเรียนดีใกล้บ้าน โรงเรียนวิชาทหารดีเด่นตามโครงการศูนย์ฝึกแข่งขันสถานศึกษาร่วมใจ โรงเรียนที่ดำเนินการธนาคารโรงเรียนดีเด่นระดับประเทศ โรงเรียนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านคุณภาพจาก สมศ. เป็นต้น

ด้านคุณภาพผู้เรียนนอกจากผลการสอบ O-NET จะสูงกว่าระดับเขตพื้นที่การศึกษาและระดับชาติแล้ว ยังได้รับรางวัลจากการประกวดแข่งขันกิจกรรมโครงการต่างๆ จากหน่วยงานต้นสังกัดและต่างสังกัดจำนวนมาก การพัฒนาแบบก้าวกระโดดนี้ก็มาจากความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่ายโดยเฉพาะผู้บริหารและคณะครูที่สืบทอดการพัฒนาต่อๆกันมาและสมาคมศิษย์เก่าก็เป็นอีกภาคส่วนสำคัญหนึ่งที่ได้สนับสนุนโรงเรียนนี้แทบจะทุกโอกาส อย่างเช่นช่วงต้อนรับปีใหม่ 2558 ที่จะมาถึงนี้ สมาคมศิษย์เก่าก็จะได้ร่วมกันทอดผ้าป่าการศึกษาเพื่อหาทุนพัฒนาโรงเรียนกันอีกครั้งในวันที่ 30 ธันวาคม 2557จึงขอเชิญชวนพี่เพื่อนน้องศิษย์เก่าทั้งหลายได้กลับไปร่วมสำนึกรักโรงเรียนเก่ากันอีกครั้งหากไม่สะดวกก็สามารถร่วมทอดผ้าป่าการศึกษาผ่านบัญชีธนาคารออมสิน เลขที่ 020078646625 ประเภทเงินฝากเผื่อเรียก ในนามสมาคมศิษย์เก่าโรงเรียนพรานกระต่ายพิทยาคมก็ได้ แต่ครั้งนี้อยากให้ไปกันเพราะจะมีงานคืนสู่เหย้าชาว พ.พ. ในวันดังกล่าวด้วย

ที่ต้องนำเรื่องนี้มาเสนอก็เพื่อต้องการให้เห็นตัวอย่างการสำนึกรักบ้านเกิด โรงเรียนเก่าที่ศิษย์เก่าโรงเรียนแห่งนี้เขาทำกันหากท้องถิ่นใดทำอยู่แล้วก็ถือว่าเป็นเรื่องดียิ่ง เพราะการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐฝ่ายเดียวคงไม่ได้โดยเฉพาะโรงเรียนในชนบทที่ยังขาดความพร้อมรอการช่วยเหลืออีกมากหากได้ช่วยกันคนละไม้ละมือท้องถิ่นก็จะกลับมาน่าดู น่าอยู่ น่าอาศัย โรงเรียนก็จะเป็นที่น่าใฝ่หาความรู้มากขึ้น แต่หากมัวคิดเพียงว่าธุระไม่ใช่บ้านเกิดก็คงจะเหลือแต่คนแก่ โรงเรียนเก่าก็จะทรุดลงไปเรื่อยๆแล้วก็ถูกยุบไปในที่สุด แล้วอย่างนี้จะไปพูดถึงความภูมิใจในตำแหน่ง ฐานะเกียรติยศความเป็นมาของตนเองได้เต็มปากอย่างไร เพราะแม้แต่บ้านเกิด โรงเรียนเก่าก็ยังไม่เคยนึกถึง คนลืมบ้านเกิดเมืองนอนนั้นเขาถือว่าเป็นคนไม่มีหัวนอนปลายเท้านะจะบอกให้

โดย: กลิ่น สระทองเนียม
ที่มา : เดลินิวส์

krurayong

ผู้เขียน: krurayong

สุธาราทิพย์ แสงสุวรรณ เป็นที่ปรึกษาและติดยาเสพติดอายุ 31 ปีที่โรงพยาบาลศรีวิชัย เธอสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2553 เธอทำงานกับทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่เพื่อจัดการกับปัญหาการเสพติดและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ในเวลาว่างของเธอเธอมีส่วนร่วมในชมรมละครของชุมชนท้องถิ่น