ร.ร.เอกชนวิกฤต! ปิดแล้ว400 ขาดครู-ค่าใช้จ่ายสูง-รัฐเมิน

Print Friendly

นายชิตวร ลีละผลิน ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลทองพูน เปิดเผยว่า ปัจจุบันโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ในกรุงเทพมหานคร มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่องจากสาเหตุต่างๆ โดยเฉพาะโรงเรียนเอกชนระดับอนุบาล และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งหากปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป

โดยรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เข้ามาให้ความช่วยเหลือ จะทำให้โรงเรียนเอกชนทยอยปิดกิจการลงเรื่อยๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เพราะโรงเรียนเอกชนถือว่ามีบทบาทอย่างมากในการจัดการศึกษาระดับอนุบาล และระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในขณะที่โรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เน้นจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และมัธยมศึกษาปลายเป็นส่วนใหญ่

นายชิตวรกล่าวว่า จากการรวบรวมรายงานสถิติการศึกษาฉบับย่อของศูนย์สารสนเทศ ศธ. ซึ่งได้รวบรวมสถิติของโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯ โดยตั้งแต่ปี 2540 พบว่าโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯทยอยเลิกกิจการมาตลอด ดังนี้ ปี 2540 มีจำนวนโรงเรียน 849 แห่ง ปี 2541 ปิดกิจการ 6 แห่ง เหลือ 843 แห่ง,

ปี 2542 ปิดกิจการ 11 แห่ง เหลือ 832 แห่ง, ปี 2543 ปิดกิจการ 3 แห่ง เหลือ 829 แห่ง, ปี 2544 ปิดกิจการ 1 แห่ง เหลือ 828 แห่ง, ปี 2545 ปิดกิจการ 9 แห่ง เหลือ 819 แห่ง, ปี 2546 ปิดกิจการ 14 แห่ง เหลือ 805 แห่ง, ปี 2547 เปิดเพิ่ม 13 แห่ง เหลือ 818 แห่ง, ปี 2548 ปิดกิจการ 63 แห่ง เหลือ 755 แห่ง, ปี 2549 ปิดกิจการ 6 แห่ง เหลือ 733 แห่ผง,

ปี 2550 เปิดเพิ่ม 16 แห่ง เหลือ 749 แห่ง, ปี 2551 ปิดกิจการ 14 แห่ง เหลือ 735 แห่ง, ปี 2552 ปิดกิจการ 11 แห่ง เหลือ 724 แห่ง, ปี 2553 เปิดเพิ่ม 8 แห่ง เหลือ 732 แห่ง, ปี 2554 ปิดกิจการ 14 แห่ง เหลือ 718 แห่ง, ปี 2555 ปิดกิจการ 20 แห่ง เหลือ 698 แห่ง และปี 2556 ปิดกิจการ 49 แห่ง เหลือ 649 แห่ง

“จากสถิติย้อนหลัง 16 ปี ตั้งแต่ปี 2540-2556 ดังกล่าว จะเห็นว่าโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯเลิกกิจการทั้งหมดถึง 225 โรงเรียน และมีแนวโน้มจะเลิกกิจการอีกจำนวนมากในอนาคต ด้วยสาเหตุต่างๆ ได้แก่

1.ความไม่เท่าเทียมกันของการบริหารจัดการของภาครัฐระหว่างโรงเรียนเอกชนกับโรงเรียนรัฐทั้งด้านนโยบายงบประมาณ อุปกรณ์ และการจัดสรรครู โดยจากการเปรียบเทียบจำนวนนักเรียนประเภทสายสามัญของโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯ และโรงเรียนสังกัด สพฐ.ในปี 2556 โรงเรียนเอกชนมีนักเรียนรวม 324,934 คน แต่โรงเรียนสังกัด สพฐ.มีนักเรียนเพียง 287,101 คน

และเมื่อเปรียบเทียบจำนวนโรงเรียน มีโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯถึง 649 แห่ง แต่โรงเรียนสังกัด สพฐ.มีเพียง 156 โรงเรียนเท่านั้น ทำให้เห็นภาพชัดเจนว่าโรงเรียนเอกชนดำเนินกิจกรรมด้านการศึกษา และแบกภาระจำนวนนักเรียนมากกว่าภาครัฐหลายเท่า แต่ภาครัฐยังให้ความสำคัญกับโรงเรียนเอกชนน้อยมาก

2.เกิดจากลูกหลานเห็นความยากลำบากในการดำเนินกิจการโรงเรียนที่บรรพบุรุษได้ก่อตั้่งขึ้นจึงไม่นิยมประกอบกิจการต่อจากพ่อแม่

3.ที่ดินมีราคาแพงขึ้น จึงเปลี่ยนไปทำธุรกิจอื่นที่ได้ผลตอบแทนมากกว่า

4.ค่าใช้จ่ายทั่วไปที่เพิ่มขึ้น และเงินเดือนครูวุฒิปริญญาตรีที่ถูกกำหนดให้ต้องจ่ายขั้นต่ำเดือนละ 15,000 บาท ตามนโยบายรัฐบาล

5.ปัญหาเกี่ยวกับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูในส่วนของหน่วยงานที่ออกใบอนุญาตฯ ทำให้ผู้ประกอบการมีปัญหา” นายชิตวรกล่าว

6.ขาดแคลนครู ซึ่งรัฐไม่เคยสนับสนุนอัตรากำลังครูเอกชน แต่โรงเรียนรัฐกลับเปิดสอบบรรจุจำนวนมาก ทำให้โรงเรียนเอกชนถูกแย่งครูไป จนทำให้ครูเอกชนขาดแคลนมาก

7.อัตราเงินอุดหนุนรายหัวที่รัฐจัดให้ระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กและใหญ่ในจำนวนเท่ากัน ทำให้โรงเรียนขนาดเล็กได้รับเงินอุดหนุนฯไม่เพียงพอกับการบริหาร ต่างจากโรงเรียนขนาดใหญ่ที่นอกจากมีรายได้จากค่าธรรมเนียมการเรียนแล้ว ยังได้เงินอุดหนุนจากรัฐอีก

8.การเก็บอัตราภาษีโรงเรือน ซึ่งรัฐควรยกเว้นให้กับโรงเรียนเอกชน เพราะดำเนินกิจการช่วยรัฐ

9.รัฐไม่มีความเท่าเทียมกันด้านวิชาการ เช่น รัฐเปิดโอกาสให้เด็กของโรงเรียนรัฐสอบโอเน็ต แต่ไม่มีนโยบายให้นักเรียนเอกชนสอบโอเน็ต

10.รัฐปล่อยให้โรงเรียนเอกชนเปิดกิจการโดยไม่คำนึงถึงพื้นที่ระยะใกล้และไกล ซึ่งในระเบียบกำหนดให้ต้องเว้นระยะห่างกันอย่างน้อย 2 กิโลเมตร แต่ปัจจุบันปล่อยให้สร้างโดยไม่คำนึงถึงกฎระเบียบ

11.จำนวนเด็กที่เกิดในแต่ละปีลดลง

12.การลงทุนสร้างโรงเรียนในยุคนี้ต้องลงทุนสูง ทั้งค่าที่ดิน และค่าก่อสร้าง และ

13.การแข่งขันสูง ทำให้แต่ละโรงเรียนต้องใช้กลยุทธ์ในการได้มาซึ่งนักเรียน

“ปัญหาเหล่านี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องรับรู้ข้อมูลเพื่อหาแนวทางแก้ไขการบริหารจัดการด้านการศึกษาให้กับโรงเรียนเอกชนในกรุงเทพฯโดยเร็วที่สุดก่อนที่โรงเรียนเอกชนจะทยอยปิดกิจการไปมากกว่านี้ และถ้ารัฐปล่อยให้สถานการณ์เป็นอยู่เช่นนี้ ก็เป็นห่วงว่าในอนาคตจะไม่มีใครมาช่วยรัฐจัดการศึกษา” นายชิตวรกล่าว

ด้านนายบัณฑิตย์ ศรีพุทธางกูร เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ศธ. กล่าวว่า การยุบเลิกกิจการของโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญฯนั้น เฉลี่ยแต่ละปีจะปิดกิจการประมาณ 5-10 โรงเรียน ในขณะที่โรงเรียนที่ขอจัดตั้งใหม่ก็มีจำนวนพอๆ กันในแต่ละปี ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 10,000-20,000 คน ส่วนสาเหตุของการยุบเลิกกิจการโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญฯนั้น ส่วนใหญ่เป็นเพราะต้องการไปประกอบธุรกิจอื่นที่ทำรายได้ดีกว่า และกำไรมากกว่ากิจการโรงเรียนเอกชน และหลายโรงเรียนเลิกกิจการเพราะทายาทไม่ต้องการสืบทอดกิจการต่อ

นายบัณฑิตย์กล่าวต่อว่า สำหรับสถิติโรงเรียนเอกชนทั่วประเทศที่ยุบเลิกกิจการตั้งแต่ปี 2545-2556 รวมจำนวน 431 โรงเรียน แบ่งเป็น ประเภทสามัญฯ 375 แห่ง และประเภทอาชีวศึกษา 56 แห่ง เมื่อดูเป็นรายปีพบว่า ประเภทสามัญฯ มีการปิดตัวมากกว่าสายอาชีวศึกษา

โดยในปี 2545 ประเภทสามัญฯปิดตัว 21 แห่ง อาชีวะ 3 แห่ง, ปี 2546 ประเภทสามัญฯ ปิดตัว 28 แห่ง อาชีวะ ปิดตัว 8 แห่ง, ปี 2547 ประเภทสามัญฯ ปิดตัว 27 แห่ง อาชีวะ ปิดตัว 8 แห่ง, ปี 2548 ประเภทสามัญฯ ปิดตัว 49 แห่ง อาชีวะ ปิดตัว 6 แห่ง, ปี 2549 ประเภทสามัญฯ ปิดตัว 52 แห่ง อาชีวะ ปิดตัว 6 แห่ง,

ปี 2550 ประเภทสามัญฯ ปิดตัว 23 แห่ง อาชีวะ ปิดตัว 4 แห่ง, ปี 2551 ประเภทสามัญฯ ปิดตัว 57 แห่ง อาชีวะ ปิดตัว 8 แห่ง, ปี 2552 ประเภทสามัญฯ ปิดตัว 47 แห่ง อาชีวะ ปิดตัว 6 แห่ง, ปี 2553 ประเภทสามัญฯ ปิดตัว 19 แห่ง อาชีวะ ปิดตัว 1 แห่ง, ปี 2554 ประเภทสามัญฯ ปิดตัว 21 แห่ง อาชีวะ ปิดตัว 4 แห่ง, ปี 2555 ประเภทสามัญฯ ปิดตัว 21 แห่ง อาชีวะ ปิดตัว 3 แห่ง และ ปี 2556 ประเภทสามัญฯ ปิดตัว 10 แห่ง อาชีวะ ปิดตัว 1 แห่ง

ที่มา : มติชน

krurayong

ผู้เขียน: krurayong

สุธาราทิพย์ แสงสุวรรณ เป็นที่ปรึกษาและติดยาเสพติดอายุ 31 ปีที่โรงพยาบาลศรีวิชัย เธอสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2553 เธอทำงานกับทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่เพื่อจัดการกับปัญหาการเสพติดและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ในเวลาว่างของเธอเธอมีส่วนร่วมในชมรมละครของชุมชนท้องถิ่น