“ป้ามล” ครูต้นแบบเปลี่ยน “เด็กต้องโทษ” เป็นคนดีคืนสังคม

Print Friendly

สคล.-สสส.จัดกิจกรรมเชิดชูครู “ป้ามล” ต้นแบบครูผู้กล้าเปลี่ยน ดึงเด็กก้าวพลาดกลับคืนสู่สังคม “อดีตเด็กบ้านกาญฯ” เผยได้ชีวิตใหม่กลับใจเป็นคนดีเพราะแง่คิดคำสอนจากป้ามล ด้าน “รองผู้ว่าฯ กทม.”หวังช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้ครู นักเรียน บุคคลทั่วไปในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า

วันนี้ (11 ม.ค.) ที่โรงแรมเอบีน่าเฮ้าส์ เมื่อเวลา10.00 น. นายธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรมเนื่องในโอกาสวันครู และเชิดชูต้นแบบครูผู้กล้าเปลี่ยน “ป้ามล” ทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก จัดโดย สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล มูลนิธิสื่อเพื่อเยาวชน เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน เครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ภายในงานมีการร่วมร้องเพลงจุดเปลี่ยน การอ่านบทกวี “ครูคือใคร” และพิธีไหว้ครูที่เคารพจากกลุ่มนักเรียน นักศึกษาที่เข้าร่วมกว่า 150 คน

นางทิชา ณ นคร ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก แสดงปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “เพื่ออนาคตลูกหลานไทย (ผู้ใหญ่) ควรทำอย่างไรดี” ว่า ตนต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะทำให้ทุกคนเห็นว่า ความพิการทั้งกาย และจิตใจของเด็กๆ นั้นมาจากเชื้อโรคที่เรียกว่า “คนทำ” การที่สังคมวางเฉยต่อเรื่องเหล่านี้จึงไม่ต่างอะไรจากการเป็นผู้เพาะเชื้อ และขอให้เชื่อว่าความผิดพลาดในชีวิตของเด็กไม่ได้เกิดจาการไม่มีทักษะอาชีพ แต่เป็นเพราะเด็กยังไม่มีทักษะในการจัดการกับความทุกข์ ความรัก ความจนความคับแค้นในชีวิต แม้สถานพินิจฯ จะเป็นสถานที่ที่สามารถบำบัดฟื้นฟูเยาวชน และคืนคนดีกลับสู่สังคม ขณะเดียวกัน ต้องไม่ลืมว่าเด็กที่ถูกกระทำด้วยความรุนแรงของผู้คุมจะหมดศรัทธาในระบบความยุติธรรม ไม่ศรัทธาในผู้ใหญ่ ไร้ศรัทธาในเจ้าหน้าที่ และที่เลวร้ายที่สุดคือ เขาจะยอมแพ้ที่จะศรัทธาในความดีที่เหลืออยู่ในตัวเอง

“กระบวนการที่บ้านกาญฯ ใช้คือจะให้เด็กๆ มองที่ตัวเอง ว่าเขามีอะไรที่หายไป มีอะไรที่เหลืออยู่ อย่าให้ปัญหาต่างๆ มาปิดกั้นแสงสว่าง และโอกาสในชีวิต ซึ่งผู้ใหญ่ไม่ต้องกังวลว่าเด็กจะไม่รู้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี เพราะเด็กเหมือนต้นไม้พวกเขาโตเข้าหาแสงเสมอ จึงอยากให้ผู้ใหญ่ช่วยทำตัวเป็นแหล่งกำเนิดแสงให้เด็ก เพราะการไปด่าไปว่าเด็กซ้ำๆ ไม่ได้ทำให้อะไรๆ ดีขึ้น ผลคือ เด็กจะจำไม่ได้อีกต่อไปว่าตัวเองก็มีด้านดีอยู่ เมื่อเด็กเชื่ออย่างนั้นแล้วก็ยากที่จะแก้ไขได้ ดังนั้น เราต้องช่วยกันเป็นครู คอยหล่อหลอมเด็ก สร้างเด็กด้วยความเข้าใจ อย่าลืมว่าเด็กทุกคนต้องการความรักในปริมาณที่มาก และจะต้องการมากที่สุดในวันที่เขาทำเรื่องไม่ดีทำเรื่องเลวร้ายที่สุด วันที่เขาโดนจับ วันที่เด็กหญิงคนหนึ่งตั้งท้อง วันที่เขาเป็นผู้แพ้ ทุกวันนี้สังคมไทยมีพื้นที่ดีๆ ที่ให้โอกาสเด็ก เยาวชน ทำสิ่งดีๆ สร้างสรรค์ น้อยมาก แต่กลับปล่อยให้ผู้ใหญ่บางกลุ่มบางพวกเห็นเด็ก เยาวชนเป็นเหยื่อ หาผลประโยชน์แม้จะทำลายชีวิต อนาคตของเยาวชน เช่น บรรดาอบายมุข สิ่งเสพติดทั้งหลาย ผู้มีอำนาจในสังคมไทยจึงต้องตระหนักถึงปัญหานี้ให้มาก” นางทิชา กล่าว

นายเอ (นามสมมติ) อายุ 27 ปี อดีตเยาวชนที่เคยใช้ชีวิตในศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน (ชาย) บ้านกาญจนาภิเษก กล่าวว่า เคยต้องโทษคดีชิงทรัพย์ตอนอายุ 16 ปี และอยู่ที่บ้านเมตตาได้ไม่นานขอทำเรื่องย้ายไปอยู่ที่บ้านกาญฯ แรกๆ ไม่เคยเชื่อว่ากระบวนการจากบ้านกาญฯ จะเปลี่ยนแปลงอะไรได้ แต่เมื่อได้เจอป้ามล ทำให้เรียนรู้อะไรจากที่นั่นมากมาย ป้ามลเป็นทั้งแม่ทั้งครู สอนให้รู้จักการให้เกียรติเคารพผู้อื่น ที่ผ่านมา ได้รับโอกาสจากป้ามลเยอะมาก ไม่คิดว่านอกจากพ่อแม่จะมีใครที่หวังดีกับเรา แม้จะเคยทำผิดลาดบ่อยครั้ง เช่น แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ก้าวร้าว ไม่เคารพกฎในบ้าน และที่ร้ายแรงคือ มีเรื่องชกต่อยกับครู่อริในบ้านกาญฯ จนต้องถูกส่งไปดำเนินคดีหลายครั้ง แต่ป้ามล ก็ให้โอกาส ไม่เคยโกรธ หรือแสดงความไม่พอใจ ขณะเรียกให้ไปพบก็คอยอบรมสั่งสอน มีคำแนะนำในสิ่งดีๆ ทำให้ฉุกคิดจนตั้งสติได้เห็นถึงอนาคต

“กว่า 8 เดือนที่ผมได้อยู่ที่บ้านกาญฯ ทำให้รู้ว่านี่คือบ้านที่อบอุ่น และป้ามลเป็นครูคนแรกที่ให้โอกาส สอนผมทุกอย่างทำให้ผมคิดได้ และเลิกต่อต้าน เลิกเอาแต่ใจ เลิกเอาความคิดตัวเองเป็นใหญ่ ป้ามลเป็นครูที่ให้ชีวิตใหม่ หากเปรียบก็คงเป็นเหมือนไม้พายเรือที่คอยช่วยให้เด็กคนนี้ไปถึงฝั่ง จนปัจจุบันนี้ผมได้นำสิ่งดีๆ ที่ป้ามล และกระบวนการจากบ้านกาญฯ มาใช้ในการดำเนินชีวิต และการทำงานของผม” นายเอ กล่าว

ขณะที่ ดร.ผุสดี ตามไท รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวในฐานะเพื่อนที่ร่วมทำงาน และสนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ว่า ป้ามล เป็นคนที่มีลักษณะพิเศษ 4 อย่าง คือ

  1. เชื่อมั่นและศรัทธาในความดีของทุกคน
  2. มีความอดทนสูง ติดตามและแก้ไขปัญหาต่อสิ่งที่ท้าทายเสมอ
  3. เป็นนักสู้ที่ยืนหยัดบนความถูกต้อง กล้าเผชิญต่อสิ่งต่างๆ เพื่อเด็กเยาวชน
  4. รักคนอื่นโดยไม่มีเงื่อนไข

ที่ผ่านมาป้ามล สามารถดึงเด็กที่ก้าวพลาด กล่อมเกลา ให้โอกาสจนคืนกลับสู่สังคมอย่างมีคุณภาพ โดยมองที่หลักการไม่มองที่ตัวบุคคล สิ่งต่างๆ เหล่านี้จึงเป็นเหมือนการสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ครู นักเรียน และบุคคลทั่วไปในการใช้ชีวิตอย่างมีคุณค่า ป้ามล เป็นผู้หญิงธรรมดาที่มีพลังยิ่งใหญ่ กล้าคิด กล้าทำ นำมาสู่การเปลี่ยนแปลงได้ อย่างไรก็ตาม ขอฝากให้กำลังใจ และชื่นชมครูทุกท่านที่ร่วมกันทำงานหนักบ่มเพาะเด็กๆ เพื่อเป็นอนาคตของชาติต่อไป

ที่มา : ผู้จัดการ

krurayong

ผู้เขียน: krurayong

สุธาราทิพย์ แสงสุวรรณ เป็นที่ปรึกษาและติดยาเสพติดอายุ 31 ปีที่โรงพยาบาลศรีวิชัย เธอสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2553 เธอทำงานกับทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่เพื่อจัดการกับปัญหาการเสพติดและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ในเวลาว่างของเธอเธอมีส่วนร่วมในชมรมละครของชุมชนท้องถิ่น