การศึกษาในศตวรรษที่ 21 รร.ต้องร่างหลักสูตรให้เด็กเป็นผู้บริหาร

Print Friendly

โอกาสก้าวสู่ทศวรรษที่ 3 สมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย (International School Association of Thailand : ISAT) ได้จัดงานดินเนอร์ ทอล์ค ฉลองครบรอบ 20 ปี ณ รร. เคมปินสกีสยาม โดยได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์ ดร.หยง เจา นักวิชาการด้านการศึกษาชาวจีน ผู้มีผลงานการศึกษาระดับโลก มาปาฐกถาในหัวข้อ เทรนด์การศึกษาในศตวรรษที่ 21

ดร.หยง เจา กล่าวถึงทรรศนะด้านเด็กของเขาว่า เด็กแต่ละคนมีพรสวรรค์ที่แตกต่างกัน เด็กที่ครูเห็นพรสวรรค์ด้านใดด้านหนึ่ง จะมีความอยากรู้อยากเห็นไม่เหมือนกันและไม่หยุดนิ่ง นั่นคือการต่อยอดของการมีชีวิตรอด จะนำมาซึ่งความเก่ง แต่ทั้งนี้เด็กเก่งก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมที่เขาอยู่ ยกตัวอย่างในบ้านเกิดของเขาที่ประเทศจีนเองคนที่เก่งคือคนที่ขี่ควายได้ ไม่ใช่เรียนหนังสือเก่ง

ดร.หยง เจา ยังบอกอีกว่า การออกแบบหลักสูตรต้องตอบโจทย์ได้ว่าเด็กที่จบมาจะเป็นอย่างไร เพราะปัจจุบันมีสถิติของนศ.จบมาไม่มีงานทำสูงขึ้นทั่วโลก ในประเทศจีนในปี ค.ศ. 2012 มีนศ.ไม่ได้รับการจ้างงาน 570,000 คน เช่นเดียวกันในสหรัฐอเมริกาในปี ค.ศ. 2012 มี นศ.จบมหาวิทยาลัยไม่ได้รับการจ้างงาน 50%

อย่างไรก็ตามในโลกยุคต่อไปนี้จะเป็นโลกยุคดิจิตอลใช้อินเทอร์เน็ต การผลิตในภาคอุตสาหกรรมลดแรงงานคนหันมาใช้หุ่นยนต์ในภาคการผลิต เช่น อาชีพทนายความในสหรัฐมีงานน้อยลงเพราะคนเสาะหาข้อมูลข้อกฎหมายทางอินเทอร์เน็ตไปเจรจากับคู่กรณี แทนที่จะว่าจ้างทนายมาสู้คดี เพราะฉะนั้นจึงต้องเตรียมเด็กให้เป็นผู้บริหาร คุณสมบัติที่สำคัญของผู้บริหารคือต้องมีความมุ่งมั่น มีความรู้รอบ มีความคิดสร้างสรรค์ และประเมินความเสี่ยงเป็น ซึ่งต้องย้อนไปที่หลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน

“ที่สุดแล้วโลกไม่มีพรมแดนทุกสิ่งทุกอย่างเชื่อมโยงกัน การศึกษาของโลกตะวันตกและตะวันออกคือการศึกษานานาชาติ ดังนั้นการที่รร.นานาชาติจะนำหลักสูตรของแต่ละประเทศไปใช้ ต้องปรับให้เข้ากับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตของประเทศของเขาด้วย เพราะเด็กไม่เหมือนกัน”

ดร.หยง เจา ยังกล่าวอีกว่า ปัจจุบันความคิดสร้างสรรค์ของเด็กส่วนใหญ่ต่ำลงเมื่อโตขึ้น ในวัย 5 ขวบเด็กมีความคิดสร้างสรรค์ 80% แต่เมื่อโตขึ้น 8 ขวบ ความคิดสร้างสรรค์เหลือ 32% สาเหตุที่ความคิดสร้างสรรค์ลดลงมาจากโรงเรียน เพราะเด็กต้องทำตามคำสั่ง เช่น สั่งให้ทำการบ้าน สั่งให้อย่าคุย หยุดเล่น เมื่อวัดความคิดสร้างสรรค์ระหว่างเด็กเอเชียและเด็กในประเทศตะวันตก ปรากฏว่าเด็กเอเชียมีน้อยกว่า เพราะเด็กเอเชียชอบเปรียบเทียบกับคนอื่น ไม่คิดว่าตัวเองมีดี

เด็กเอเชียยังขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง แม้จะทำคะแนนด้านวิชาการได้ดีกว่า เช่น การจัดอันดับการทำคะแนนวิชาคณิตศาสตร์ปรากฏว่าเด็กเกาหลีทำคะแนนได้อันดับหนึ่ง รองลงมาคือสิงคโปร์ ฮ่องกง เด็กในอเมริกาทำคะแนนอยู่ในลำดับกลาง ๆ และเด็กอเมริกาหางานทำได้มากกว่า เพราะมีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงกว่า นำเสนอเป็น นำเสนอเก่ง

ดร.หยง เจาแนะวิธีสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้กับเด็ก ต้องเริ่มจากผู้ใหญ่ ไม่ควรสั่งให้เด็กทำโน่นทำนี่ ทำได้เพียงชี้แนะแนวทาง ไม่ควรตัดสินใจแทนเด็ก บอกแค่ว่าจุดที่เหมาะสมอยู่ตรงไหน ครูต้องส่งเสริมข้อดีของเด็กด้วย เมื่อเป็นเช่นนั้นเด็กจะเกิดความเชื่อมั่นในตัวเองตามมา

อ.อุษา สมบูรณ์ นายกสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย (ISAT) กล่าวว่า ดร.หยง เจา เป็นผู้มีผลงานโดดเด่นโดยการออกแบบโรงเรียนที่สามารถสร้าง นร.ที่มีความสามารถระดับโลก พัฒนาเกมคอมพิวเตอร์สำหรับการศึกษาแนวใหม่ นอกจากนี้ยังมีบทความ ตีพิมพ์แล้วมากกว่า 100 เรื่อง และหนังสือมากกว่า 20 เล่ม ยัง ได้รับรางวัล Early Career Award จาก American Educational Research Association และได้รับการนำเสนอชื่อเป็นหนึ่งใน 10 ผู้มีอิทธิพลมากที่สุดในแวดวงเทคโนโลยีด้านการศึกษาในปี ค.ศ. 2012 จากนิตยสาร Tech & Learn Magazine

ดร.หยง เจา เกิดในมณฑลเสฉวน ประเทศจีน จบการศึกษาศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาภาษาอังกฤษ จากสถาบัน Sichuan Institue of Foreign Languages ในเมืองฉงชิง ประเทศจีน เมื่อปี ค.ศ. 1986

ปัจจุบัน ดร.หยง เจา ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการและประธานสถาบัน Global and Online Edaucation College of Education มหาวิทยาลัยแห่งรัฐโอเรกอน ประเทศสหรัฐ

โดย : พรประไพ เสือเขียว
ที่มา : moe

krurayong

ผู้เขียน: krurayong

สุธาราทิพย์ แสงสุวรรณ เป็นที่ปรึกษาและติดยาเสพติดอายุ 31 ปีที่โรงพยาบาลศรีวิชัย เธอสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2553 เธอทำงานกับทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่เพื่อจัดการกับปัญหาการเสพติดและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ในเวลาว่างของเธอเธอมีส่วนร่วมในชมรมละครของชุมชนท้องถิ่น