ศธ.ชง’อังกฤษ’ภาษาที่ 2 เพิ่มชั่วโมงเรียนดึงบริติชเคานซิลวางระบบใหม่ส่งครูช่วยสอน

Print Friendly

รมว.ศธ.เห็นชอบในหลักการประกาศนโยบายตั้งภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 เล็งดึงบริติช เคานซิล วางระบบการเรียนการสอนภาษาอังกฤษใหม่ รวมทั้งเพิ่มชั่วโมงเรียน จัดค่ายฝึกฟังพูด 800 ค่ายทั่วประเทศ

นายกมล รอดคล้าย เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (เลขาฯ กพฐ.) กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังเตรียมเสนอ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) ให้ประกาศนโยบายเรื่องการนำภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่ 2 ในการศึกษา เพราะทุกวันนี้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาต่างประเทศที่มีความสำคัญมาก ซึ่งหากมองในหลักการแล้ว การที่ สพฐ.เสนอเช่นนี้เพื่อแสดงถึงความต้องการที่จะจัดการเรียนการสอนภาษาอังกฤษอย่างจริงจัง และตนได้มีการเสนอหลักการในที่ประชุมองค์กรหลักของ ศธ.ที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆ นี้แล้ว ทาง รมว.ศธ.ก็เห็นชอบในหลักการ จากนั้นทาง

สพฐ.จะต้องจัดทำรูปแบบพัฒนาการเรียนการสอน คาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อเสนอต่อ รมว.ศธ.อีกครั้ง เพราะ สพฐ.ถือว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ ในอนาคตประเทศไทยจะต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซียน จำเป็นที่จะต้องใช้ภาษาอังกฤษ อาทิ เอกสารราชการต่างๆ หรือตามป้ายรถเมล์ ป้ายจราจร ควบคู่กันไปกับภาษาไทย และทาง ศธ.เองกำลังดำเนินการหารือกับกระทรวงศึกษาธิการของประเทศอังกฤษ เพื่อที่จะเชิญสถาบันบริติช เคานซิล ของประเทศอังกฤษมาวางระบบหลักสูตรการเรียนการสอนวิชาภาษาอังกฤษของประเทศไทยใหม่ และทางบริติช เคานซิล จะส่งครูต่างชาติมาช่วยสอนในไทย ซึ่งจะเป็นครูอาสาสมัครที่มาจากหลายประเทศ อาทิ อังกฤษ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เป็นต้น และยังมีสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยของบริติช เคานซิล ตามมาด้วย

“แน่นอนว่าหลังจากนี้สิ่งที่จะต้องเปลี่ยนไปอย่างแน่นอนคือ เรื่องของหลักสูตรและวิธีการเรียนการสอน อย่างไรก็ตาม ผมเชื่อว่านอกจากเรื่องเหล่านี้แล้ว เราจำเป็นที่จะต้องสร้างบรรยากาศให้สิ่งต่างๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเด็กมีภาษาอังกฤษเข้ามาเป็นส่วนประกอบ เพื่อจะเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและกระตุ้นการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของเด็ก และคงจะต้องมีการเพิ่มชั่วโมงของการเรียนภาษาอังกฤษด้วย ต้องยอมรับว่าภาษาอังกฤษไม่ได้ยาก ต้องมีการฝึกฝนและนำมาใช้เพื่อที่จะได้เกิดความจำและความเข้าใจ แต่จะเพิ่มมากน้อยเพียงใดนั้นจะต้องมีการทำวิจัยถึงความเหมาะสมกับเด็กในแต่ละช่วงชั้นด้วย” เลขาฯ กพฐ.กล่าว

นายกมลกล่าวต่อว่า ในตอนนี้ สพฐ.เองก็ได้ดำเนินการเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการสอนภาษาอังกฤษควบคู่กันไปด้วยคือ การปรับการเรียนการสอนที่เน้นหลักไวยากรณ์เพียงอย่างเดียว เป็นการเพิ่มชั่วโมงเรียนวิชาภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร ทั้งยังเสริมด้วยสื่อการเรียนการสอนต่างๆ ที่สอดรับกับภาษาอังกฤษเพื่อการสื่อสาร มีการจัดสรรงบเพื่อจ้างครูต่างชาติเข้ามาสอนในวิชาภาษาอังกฤษด้วย และ สพฐ.ยังนำกรอบของ Common European Framework of Reference for Languages หรือ CEFR มาใช้ในหลักสูตรการเรียนการสอนที่จะเน้นการสื่อสาร ด้านการฟัง พูด เป็นหลัก ซึ่งเมื่อจบการเรียนการสอนก็จะต้องมีการทดสอบระดับความสามารถของเด็ก และเด็กสามารถนำผลการทดสอบนี้ใช้ประกอบการเข้าศึกษาต่อในต่างประเทศได้

“นอกจากจะเน้นเรื่องระบบการเรียนการสอนแล้ว สพฐ.เองยังมีการจัดกิจกรรมพิเศษ อาทิ การเปิดห้องเรียนพิเศษที่เน้นภาษาอังกฤษเฉพาะ อย่างห้อง English Program และจัดค่ายภาษาอังกฤษกว่า 800 ค่ายทั่วประเทศ เพื่อที่จะฝึกเด็กให้มีการหัดพูดและใช้ภาษาอังกฤษเป็นเวลา 3 อาทิตย์ และยังมีการจัดการประกวดต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาษาอังกฤษ รวมถึงการอบรมครู ส่งครูและเด็กไปศึกษางานที่ต่างประเทศด้วย” เลขาฯ กพฐ.กล่าว

ที่มา : moe

krurayong

ผู้เขียน: krurayong

สุธาราทิพย์ แสงสุวรรณ เป็นที่ปรึกษาและติดยาเสพติดอายุ 31 ปีที่โรงพยาบาลศรีวิชัย เธอสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2553 เธอทำงานกับทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่เพื่อจัดการกับปัญหาการเสพติดและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ในเวลาว่างของเธอเธอมีส่วนร่วมในชมรมละครของชุมชนท้องถิ่น