เปิดกรุสมุด-ดินสอ“ป่อเต็กตึ๊ง” รำลึกถึง “วันเด็ก” ในวันวาน

Print Friendly

มื่อถึงวันเด็กในแต่ละปีหลายคนคงคิดถึงบรรยากาศตอนคุณครูให้ยืนเข้าแถวรับขนมนมเนยและของขวัญสีสันสดใสเมื่อครั้งวัยเยาว์ และหนึ่งในของขวัญที่ทำให้เด็กหญิงเด็กชายหัวใจพองโตก็คือชุดเครื่องเขียน ซึ่งประกอบด้วย สมุด ดินสอ และไม้บรรทัด ที่ได้รับแจกจาก “มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง”โดยเฉพาะสมุดที่บางปีก็มีสูตรคูณ บางปีก็มีมาตราชั่ง-ตวง-วัด หรือคำขวัญวันเด็ก อยู่ด้านหลังปกให้เด็กๆได้ท่องจำ นับเป็นความทรงจำในวัยเยาว์ที่คิดถึงที่ไรก็อดยิ้มไม่สักที

แต่หลายคนคงนึกไม่ถึงว่าสมุดดินสอของป่อเต็กตึ๊งนั้นได้มีการแจกให้แก่เด็กไทยมาตั้งแต่ปี 2502 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีการกำหนดให้ประเทศไทยมีวันเด็กแห่งชาติ จนมาถึงวันนี้รวมระยะเวลาถึง 56 ปีแล้ว ‘ASTV ผู้จัดการ’ จึงขอพาท่านไปย้อนวันวาน เปิดกรุสมุด-ดินสอ “ป่อเต็กตึ๊งว่านับแต่วันนั้นถึงวันนี้มีวิวัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างหากย้อนไปดูสมุดที่ป่อเต็กตึ๊งแจกให้แก่เด็กๆในช่วงแรกๆจะพบว่าเนื้อกระดาษจะมีสีขาวอมเหลือง และเนื้อบางกว่าสมุดที่แจกในปัจจุบัน ซึ่งมีสีขาวบริสุทธิ์และมีการกำหนดมาตรฐานความหนาของเนื้อกระดาษว่าต้องไม่ต่ำกว่า 70 แกรม ส่วนปกสมุดก็มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงรูปแบบมาอย่างต่อเนื่องทุกปี แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือปกด้านหน้าจะมี “ตัวเสียง” (善) อักษรจีนซึ่งแปลว่า..ความดี หรือ การทำบุญ อันเป็นสัญลักษณ์ของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ปรากฏอยู่บนปกสมุดทุกเล่ม

ภาพจาก : ผู้จัดการ

ขณะที่องค์ประกอบอื่นๆนั้นจะแตกต่างกันไปในแต่ละปี บางปีก็เป็นรูปโบว์ บางปีก็เป็นลายไทย แต่ที่น่าสนใจอย่างยิ่งคือหากปีใดเป็นปีที่มีวโรกาสสำคัญขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว อาทิ พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ วโรกาสที่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 7 รอบ ป่อเต็กตึ๊งก็จะจัดพิมพ์ตราสัญลักษณ์เนื่องในวโรกาสนั้นๆลงบนปกสมุด นอกจากนั้นล่าสุดตั้งแต่ปี 2556 เป็นต้นมา ป่อเต็กตึ๊งได้ปรับรูปแบบหน้าปกให้ดูน่ารักสดใสเหมาะกับเด็กๆมากยิ่งขึ้น เช่น มีลายการ์ตูน ใช้สีเขียว ชมพู ฟ้า ส่วนปกหลังของสมุดนั้นป่อเต็กตึ๊งจะใส่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา ซึ่งในแต่ละปีก็จะแตกต่างกันไป โดยบางปีก็เป็นสูตรคูณ บางปีเป็นมาตราชั่ง-ตวง-วัด บางปีเป็นแผนที่ประเทศไทย หรือคำขวัญวันเด็กในแต่ละปี

ภาพจาก : ผู้จัดการ

สำหรับดินสอนั้น ในอดีตจะเป็นดินสอไม้แบบเหลี่ยม ต่อมาเปลี่ยนเป็นดินสอไม้แบบกลมเพื่อให้จับถนัดมือ และล่าสุดเปลี่ยนมาเป็นดินสอเปลี่ยนไส้ได้เพื่อให้เด็กๆใช้งานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ส่วนไม้บรรทัดก็มีการพัฒนาขึ้นเช่นกัน จากเดิมที่เป็นไม้บรรทัดพลาสติกสีขุ่น ความยาว 12 นิ้ว ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นพลาสติกใส ความยาว 12 นิ้ว เพื่อที่เวลาเด็กๆตีเส้นจะได้ไม่เผลอขีดทับตัวหนังสือ และล่าสุดได้ปรับความยาวของไม้บรรทัดให้สั้นลงเพื่อให้เด็กๆพกพาสะดวก อีกทั้งเนื้อพลาสติกยังมีความเหนียวและยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถโค้งงอได้ เพื่อไม่ให้ไม้บรรทัดแตกหักง่าย

ดร.สมาน โอภาสวงศ์ ประธานกรรมการมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง บอกเล่าถึงที่มาและรายละเอียดของโครงการแจกอุปกรณ์การศึกษาเนื่องในวันเด็กแห่งชาติ ว่า “ เนื่องจากป่อเต็กตึ๊งเล็งเห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญสำหรับเด็กๆซึ่งเป็นอนาคตของชาติ และในแต่ละปีเด็กๆก็ต้องใช้สมุด-ดินสอหลายชุด เราจึงอยากแจกอุปกรณ์เครื่องเขียนให้เป็นของขวัญแก่เด็กๆในวันเด็กแห่งชาติ ซึ่งโครงการนี้เราได้ทำต่อเนื่องมากว่า 50 ปีแล้ว โดยเราจะแจกสมุด-ดินสอ-ไม้บรรทัด ให้แก่เด็กๆรวมแล้วปีละประมาณ 800,000 ชุด ในปี 2558 นี้ก็เช่นกัน แต่เราเพิ่มจำนวนชิ้น จากเดิม 1 ชุดจะประกอบด้วยสมุด-ดินสอ-ไม้บรรทัด อย่างละ 1 ชิ้น ก็เพิ่มเป็นอย่างละ 2 ชิ้นต่อชุด รวมงบประมาณทั้งสิ้น 24 ล้านบาท โดยเราจะแจกให้แก่เด็กนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 ถึงชั้นประถมปีที่ 6 ในโรงเรียนที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และโรงเรียนจีนในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทั้งนี้นอกจากโครงการดังกล่าวแล้วเรายังมีโครงการสนับสนุนการศึกษาในลักษณะอื่นๆอีกหลายโครงการ อาทิ โครงการแจกทุนการศึกษา โครงการแจกชุดนักเรียน เป็นต้น โดยในแต่ละปีมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งใช้งบในโครงการเพื่อการศึกษาถึง 30-40 ล้านบาท เพราะเราเชื่อมั่นว่าการให้เพื่อการศึกษานั้นเป็นสิ่งที่มีค่าทั้งต่อเยาวชนและประเทศชาติ ”

อุปกรณ์เครื่องเขียนที่มูลนิธิป่อเต็กตึ๊งแจกให้แก่เด็กๆในวันเด็กแห่งชาติของทุกปีนั้นอาจจะไม่ได้มีมูลค่ามากมาย แต่สำหรับเด็กๆแล้วสมุด-ดินสอเหล่านี้นับเป็นของขวัญที่มีคุณค่าทางจิตใจ ทำให้พวกเขายิ้มได้และหัวใจพองโต ในขณะที่ผู้ใหญ่ใจดีที่ร่วมบริจาคกับป่อเต็กตึ๊งก็รู้สึกอิ่มใจที่ได้มีส่วนรดน้ำใส่ปุ๋ยให้เม็ดพันธุ์ของชาติแข็งแรงเติบโตต่อไปในอนาคต

ที่มา : ผู้จัดการ

krurayong

ผู้เขียน: krurayong

สุธาราทิพย์ แสงสุวรรณ เป็นที่ปรึกษาและติดยาเสพติดอายุ 31 ปีที่โรงพยาบาลศรีวิชัย เธอสำเร็จการศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในปี 2553 เธอทำงานกับทั้งวัยรุ่นและผู้ใหญ่เพื่อจัดการกับปัญหาการเสพติดและพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติดและแอลกอฮอล์ ในเวลาว่างของเธอเธอมีส่วนร่วมในชมรมละครของชุมชนท้องถิ่น