“ยงยุทธ” เผยอาจต้องแก้ พ.ร.บ.สมศ.ปรับบทบาทจากผู้ประเมินเหมาเข่ง เป็นเลือกสุ่มประเมินและให้ใบรับรองสถานศึกษาแทน เปรียบเปรยต้องทำสองอย่างเวลาเดียวกันทั้งให้ไม้เรียวและดอกไม้ ชี้จุดอ่อน สมศ.ที่ผ่านมา ตัวชี้วัดยุ่บยั่บเกินไป แต่ประเมินได้เพียงปริมาณ ไม่ใช่ประสิทธิภาพ เข้าไม่ถึงการชี้วัดคุณภาพที่แท้จริง
วันที่ 8 ธันวาคม ที่ไบเทค บางนา สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) จัดประชุมวิชาการนานาชาติ เรื่องการประกันคุณภาพการศึกษา ประจำปี พ.ศ.2557
โดยมีนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมด้วย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รมว.ศธ.) และผู้อำนวยการผู้บริหาร สมศ. ทั้งนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “การตรวจสอบคุณภาพสถานศึกษา” มีใจความตอนหนึ่งว่า สมศ.มีบทบาทหน้าที่ในการประเมินและรับรองคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาทุกระดับ แต่ผลงานของ สมศ.ในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา สมศ.เน้นการประเมินเป็นหลัก ไม่ค่อยมีการทำงานด้านการรับรอง และตนคิดว่าการประกันคุณภาพควรจะมีในทุกช่วงวงจรการผลิต หรือ PDCA คือเริ่มประเมินตั้งแต่แผนการปฏิบัติงาน (Plan) การลงมือทำ (Do) ทำการประเมินด้วยตนเอง (สถานศึกษา) และผู้ที่เกี่ยวข้อง (ผู้ปกครอง) (Check) และสุดท้ายเมื่อพบปัญหาอุปสรรคควรแก้ไข (Act)
นายยงยุทธกล่าวต่อว่า ถึงแม้ สมศ.จะมีความสำเร็จบ้าง แต่ก็ยังคงมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่างๆ เนื่องจาก พ.ร.บ.ปี 2549 กำหนดให้ สมศ.ต้องประเมินทุกสถานศึกษา และในปัจจุบันสถานศึกษามีเพิ่มขึ้นจำนวนมาก การดำเนินการจึงทำได้ยาก ซึ่งอาจจะมีการปรับแก้ พ.ร.บ.ฉบับนี้ เช่น เปลี่ยนการประเมินไม่จำเป็นต้องทำทุกสถานศึกษา อาจจะใช้การสุ่มตรวจ เป็นต้น และการประเมินของ สมศ.ยังมีตัวชี้วัดที่มากเกินไป วัดเชิงปริมาณมากกว่าประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งนี้ คิดว่า สมศ.ควรจะเพิ่มเรื่องการรับรองสถานศึกษาเพิ่มมากขึ้นจากที่ทำอยู่ในปัจจุบัน และรองรับให้แก่สถานศึกษาที่สมัครใจ การกระทำเช่นนี้อาจจะทำให้ สมศ.ก้าวมาเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับด้านการวัดมาตรฐานด้านการศึกษา
“ผมอยากถามว่าต่อไป สมศ.ควรมีบทบาทอย่างไร จะเป็นผู้ถือไม้เรียวหรือให้ช่อดอกไม้ หรือทำทั้งสองอย่าง เพราะที่ผ่านมา สมศ.เหมือนผู้ถือไม้เรียว เข้าไปตรวจข้อสอบขณะที่ผู้ที่จะถูกตรวจสอบยังไม่ได้รับการฝึกฝนอย่างเพียงพอ สมศ.จึงต้องปรับบทบาทเข้าไปช่วยเหลือสถานศึกษาด้วย และต้องเริ่มปรับบทบาทใหม่โดยการรับรองสถานศึกษาโดยความสมัครใจของสถานศึกษา” นายยงยุทธกล่าว และว่า อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดเป็นเพียงข้อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาต่อไป
ด้าน พล.ร.อ.ณรงค์กล่าวว่า ตนอยากให้ สมศ.กำหนดมาตรฐานเกณฑ์การประเมินสถานศึกษาที่ความน่าเชื่อถือและควรเป็นมาตรฐานสากล แต่ต้องสอดคล้องกับบริบทความเป็นไทยและท้องถิ่น โดยต้องไม่เป็นการเพิ่มภาระงานเกินความจำเป็น หรือส่งผลกระทบต่อการพัฒนาบุคลากรทางการศึกษา อีกทั้ง สมศ.ควรสร้างกลไกในการเผยแพร่ข้อมูลความรู้ ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการประเมินคุณภาพการศึกษา และต้องสร้างมาตรฐานของผู้ประเมินที่ชัดเจนและมีความเป็นมืออาชีพ เนื่องจากที่ผ่านมามีเสียงสะท้อนว่าผู้ประเมินไม่มีคุณภาพ
“ผมอยากเห็นการประเมินของ สมศ.เป็นสิ่งที่สถานศึกษาอ้าแขนรับ อยากให้ สมศ.เข้าไปประเมินว่า ประเมินแล้วสถานศึกษาได้รับความรู้ ได้เห็นจุดอ่อนหรือจุดบกพร่องเพื่อนำไปแก้ไข ไม่อยากเห็นสถานศึกษาต่อต้านการประเมินของ สมศ. ซึ่งอยากให้ สมศ.นำเรื่องนี้ไปคิดได้แล้ว สำหรับการประเมินภายนอกสถานศึกษารอบ 4 เริ่มประเมิน 1 ตุลาคม 2558 (ประจำปีงบประมาณ 2559-2563) อยากให้ สมศ.รอทิศทางที่ชัดเจนจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก่อน เพื่อจะได้แนวทางการประเมินภายนอกสถานศึกษาที่ถูกต้อง เพราะไม่อยากให้ สมศ.ทำไปก่อน เดี๋ยวจะเพี้ยนไปจากเดิมเช่นที่ผ่านมา และขอให้ไปคิดด้วยว่าจะทำอย่างไรให้สถานศึกษาเตรียมการรองรับการประเมินเพื่อให้ผลการประเมินออกมาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” รมว.
ที่มา : ไทยโพสต์